วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

เมื่อคนแปลกหน้ามาทักคุณตามถนน แล้วบอกรายละเอียดเรื่องราวชีวิตคุณได้ : ปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ โดย ไทยไพรเวซี่


เมื่อคุณเดินอยู่ริมชายหาด แล้วมีคนแปลกหน้ามาทักชื่อคุณได้พร้อมถามว่า
   ....ลูกอายุ 3 ขวบของคุณเป็นไงบ้าง

  คุณจะรู้สึกอย่างไร ?

ก  ดีใจ เราดัง มีคนรู้จัก
ข  ดีใจ ลูกเราก็ดังแล้ว  ต่อไปต้องได้เป็นดาราเด็กแน่ๆ
ค   ตกใจ ทำไรไม่ถูก
ง    อื่นๆ

  ??



วันนี้ไพรเวซี่ ขอมาคอมเมนต์คลิปวีดีโอที่ทดลองพฤติกรรมและปฎิกิริยาของผู้ที่ถูกคนแปลกหน้าทัก โดยบอกข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกต้อง

ลองดูคลิปวีดีโอของ Jack Vale อันนี้ 

https://www.youtube.com/watch?v=IqeOnfQmZPY







การ "อำ"  หรือที่ฝรั่งเรียก "Prank" ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
  บ้านเราก็มีมานานแล้ว  สำหรับการ แกล้งหลอกให้ตกใจ หรือสร้างสถานการณ์สมมุติให้เหยื่อเป้าหมายมีอารมณ์ร่วม หลงเชื่อ แล้วเฉลย ว่า แอบถ่าย  ดูกล้องตรงนั้นซิ ฯลฯ

แต่การ อำ ในคลิปนี้  ที่ใช้ชื่อว่า การคุกคามทางเครือข่ายสังคม (Social network stalker)
   ก็คือ  มีใครสักคนที่คุณไม่คิดว่ารู้จักมาก่อน มาทักคุณขณะเดินอยู่ชายหาด
      ไม่ได้ทักเฉยๆ
          แต่เรียกชื่อคุณได้ถูกต้อง
                ยิ่งกว่านั้น ยังรู้รายละเอียด ข้อมูล การใช้ชีวิตส่วนตัว lifestyle ต่างๆ

                 อ้อ คุณที่ชอบรถซิ่งใช่มั๊ย     คุณที่มีลูกอายุสามขวบใช่เปล่า ลูกเป็นไงมั่ง
                   เพิ่งกินข้าวร้านนี้มาใช่มั๊ย  ฯลฯ





คุณคงตกใจไม่น้อย ว่าคนที่มาทัก รู้จักคุณได้อย่างไร
          หลายคนมักย้อนถาม แล้วคุณเป็นใคร  รู้จักฉันได้อย่างไร
คุณอาจนิ่งอึ้งไป แล้วครุ่นคิดว่า ตาคนนี้ คุณเคยรู้จักเขามาตอนไหน สมัยไหน ในสภาพแวดล้อมใด






สุดท้าย ในคลิปก็เฉลยว่าเป็นการอำกันเล่น คนที่มาทักก็อ้างว่าเป็นนักแสดงตลก  (Jack Vale)
      แล้วก็ชี้ให้ดูกล้องอยู่ทางน้ัน
              เรื่องเหมือนจะจบ ก็ฮาๆกันไป  ตามแนวทางของรายการในแนว อำกันเล่น




  การอำ หรือ prank ของ    Jack Vale  สะท้อนปัญหาความปลอดภัยของการใช้สื่อออนไลน์ได้ดี


 


แต่เรื่องไพรเวซี่ยังไม่จบแค่นั้น
     ต้องถามกันต่อไปว่า  พิธีกรรู้รายละเอียดเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของคนที่ถูกอำได้อย่างไร
       จากเรื่องราว แสดงว่า พิธีกรไปได้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ ของ "เป้าหมาย" ซึ่งเป็นคนที่เดินอยู่บริเวณชายหาด
     นี่เป็นจุดแรก   การได้รับข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นมาจากสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้คนเปิดเผยตัวตนพร้อมเรื่องราวส่วนตัวกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งข้อมูลเชิงลึก  รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวโยงกับคนอื่นๆ เช่น เพื่อน หรือแม้แต่ลูกซึ่งเป็นเด็กเล็กๆ
       เป็นข้อสังเกตให้ฉุกคิด สำหรับคนที่โพสต์เรื่องราวต่างๆของตัวเองออนไลน์   ให้ตั้งคำถามตัวเองถึงความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าว
   


บางคนก็ไม่แคร์ ตัวอย่างเช่น
     ผู้ถูกอำคนหนึ่งที่ปรากฎในคลิป
       มาโพสต์คอมเมนต์ในยูทูปท้ายคลิปดังกล่าว
  สรุปว่า
           โอ้ คนครึ่งล้านเห็นหน้าผมในยูทูปแล้วล่ะ   ตอนนี้พวกคุณสามารถติดตามผมต่อทางอินสตาแกรม xxx ได้เล้ย ...
     นี่แสดงให้เห็นถึงประเด็นทางไพรเวซี่อันหนึ่งที่สำคัญคือ
       เจ้าของสิทธิ ไม่ได้แคร์ถึงความเป็นส่วนตัว   ประมาณว่า อาศัยโอกาสนี้แจ้งเกิดให้ตัวเองดังกันไปเลย    ... นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่ง  
    เรียกได้ว่า สละความเป็นส่วนตัวเพื่อแลกกับสิ่งอื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือ การเป็นที่รู้จัก หรืออาจจะเป็นเน็ตไอดอลต่อไปก็ได้ ใครจะไปรู้ 



  จุดที่สองน่าคิดว่า  แล้วพิธีกรเข้าถึงข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ของคนแปลกหน้า ที่เดินอยู่ชายหาดนั้นได้อย่างไร
       เป็นไปได้หลายทางทีเดียว อีกทั้งไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรที่ซับซ้อนมากเลยด้วยซ้ำ
       เช่น ทีมงานอาจเข้าดู อินสตราแกรมโดยค้นรูปภาพที่่เชื่อมโยงกับชายหาดแห่งนั้นในฐานะเป็น location    จะเห็นได้ว่า  สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบการระบุสถานที่อยู่ของบุคคล เช่น Google Maps

     การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลลงในสื่อสังคมออนไลน์ บวกกับ การแชร์ location ของตนเอง ประกอบกันก็มีผลออกมาเป็นความเสี่ยงต่อสิทธิส่วนบุคคล ดังผลปรากฎให้เห็นในคลิปวีดีโอนี้


  ยังดีว่า นี่คือ prank หรือ การอำกันเล่น
     ลองคิดดูว่า ถ้าคนลงมือทำเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่พิธีกร นักแสดงตลก
          แต่เป็นอาชญากร ที่มุ่งประสงค์ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆไปในทางมิชอบ
               ตอนจบ จะยังคง ฮา กันออก อย่างนี้หรือไม่


      

วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

วันสันติภาพสากล 21 กย : Peace Privacy Security (Thaiprivacylaw by คณาธิป)



21 กันยายน เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง 

  International day of peace  หรือ World Peace Day  หรือ วันสันติภาพสากล

เป็นวันที่จัดขึ้น โดยเน้นความสำคัญของ สันติภาพ  โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวกับ สงคราม การพิพาทกันโดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์







แน่นอนว่า   โดยทั่วไปแล้ว  เมื่อพูดถึง สันติภาพ หรือ Peace
เท่าที่ผ่านมาและคุ้นเคยกันดีก็คือ สันติภาพ ในบริบทของการเรียกร้องให้ยุติสงคราม หยุดยิง ความรุนแรงทางกายภาพต่างๆ

กล่าวคือ  พิจารณาความหมายของสันติภาพ ในความสัมพันธ์กับ สงคราม หรือ Peace and War 

แต่ในแง่ของสิทธิส่วนบุคคลแล้ว  มีข้อน่าคิด


-  การทำสงครามโดยตัวของมันเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อ ไพรเวซี่ ของประชาชนอยู่ในตัว เช่น การเข้าถึงข้อมูลต่างๆของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในช่วงสงคราม ซึ่งอาจมีกฎหมายภายในให้อำนาจ เช่น กฎอัยการศึก ฯลฯ

-  ความพยายามของรัฐในการป้องกันสงคราม  โดยมาตรการต่างๆ เช่น การข่าวกรอง หรือ intelligence  นำไปสู่การล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไพรเวซี่ของประชาชน เช่น
    การสอดส่อง  , spying

    การให้น้ำหนักไปกับความพยายามสร้างความมั่นคงของรัฐ  (Security)   ในแง่หนึ่งอาจลดปัญหาของ สงคราม (War) ซึ่งอาจนำไปสู่สันติภาพ (Peace) ได้

   แต่ในอีกแง่หนึ่ง  การได้มาซึ่งความมั่นคง อาจต้องแลกไปกับ ความสูญหายหรือสูญเสียไปของไพรเวซี่ โดยเฉพาะ ไพรเวซี่จากประชาชนผู้ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลยกับการก่อกำเนิดของสงครามหรือความรุนแรงต่างๆ

Peace ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการที่ประชาชนสูญเสีย Privacy
  คงยากที่จะกล่าวว่า มันเป็น Peace ที่แท้จริง

การ หยิบยื่น  บังคับ หรือ ยัดเเยียด ความ สงบ สันติ ใส่มือผู้อื่น
    ยังไงก็คงยากที่จะกล่าวว่ามันคือ สันติ ไปได้

-  Peace ในบริบทของสังคมออนไลน์
       น่าจะต้องหมายความถึง ควางสงบปราศจากการถูกรุกราน คุกคาม ด้วยการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  ที่ไม่ได้กระทำด้วยอาวุธ  แต่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าอาวุธ
  เช่น การถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล  เป็นต้น
    
    หากไม่มีสงคราม แต่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม จะว่าสังคมนั้นบังเกิด สันติภาพ ขึ้นก็คงจะยาก


     Peace  Privacy  Security   คงจะต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แม้ว่าอาจจะเหลื่อมล้่ำหรือทับซ้อนกันบ้างก็ตาม